Friday, July 17, 2009

ไข้หวัดหมู คืออะไร?



ข่าวการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ออกมาในตอนแรกๆ นั้น เรียกโรคนี้ว่า “ไข้หวัดหมู” (Swine Influenza หรือเรียกสั้นๆ ว่า swine flu) ซึ่งก็น่าจะเป็นเพราะสารพันธุกรรมของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นี้ ส่วนใหญ่ไปเหมือนกับสารพันธุกรรมของไข้หวัดหมูนั่นเอง
สำหรับคำอธิบายของไข้หวัดหมูในเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก ได้ระบุไว้ว่า...



เป็นโรคติดต่อที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอตัวใดตัวหนึ่งของหมู โดยเชื้อจะแพร่ติดต่อกันได้ทางอากาศทั้งทางตรงและทางอ้อม




ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในหมูส่วนมากเป็นสายพันธุ์ย่อยH1N1(แม้จะเป็นชนิดA(H1N1)เช่นเดียวกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่องค์ประกอบของสารพันธุกรรมก็ยังไม่เหมือนกันทั้งหมด) ส่วนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ที่พบในหมูคือ H1N2, H3N1 และ H3N2 หมูสามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ของนกและคนได้ดีเท่าๆ กับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ของหมู ซึ่งบางครั้งสามารถติดเชื้อไวรัสได้มากกว่าหนึ่งชนิดในเวลาเดียวกัน ทำให้ยีนจากไวรัสเหล่านี้เกิดการผสมกัน เป็นผลให้เกิดการกลายพันธุ์ แม้ว่าโดยปกติแล้วเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ของหมูจะติดต่อกันเฉพาะในกลุ่มของหมูเท่านั้น แต่บางครั้งผลจากการกลายพันธุ์ของไวรัสนี้ก็เป็นเหตุให้เชื้อติดต่อมาสู่คนได้เช่นกัน



รู้จักกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus)

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิดหลัก ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A, B และ C


เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A เกิดจากไวรัสที่มีรหัสพันธุกรรมเป็นท่อนๆ มีทั้งหมด 8 ท่อน ได้แก่ PB2, PB1, PA, HA, NP, NA, M, และ NS ซึ่งสามารถสร้างโปรตีนได้ 10 ชนิด ได้แก่ PB2, PB1, PA, HA, NP, NA, M1, M2, NS1 และ NS2 โดยส่วนที่สำคัญคือ HA (Hemagglutinin) ซึ่งแบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยได้ 16 ชนิด (H1–H16) และ NA (Neuraminidase) ซึ่งแบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยได้ 9 ชนิด (N1–N9) ทั้ง HA และ NA เป็นโปรตีนโครงสร้างที่อยู่บนเปลือกผิวของอนุภาคไวรัส และเป็นตัวกำหนดความจำเพาะในการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์เจ้าบ้าน (Host cell) ชนิดต่างๆ ซึ่งความหลากหลายในส่วนของ HA และ NA นี้เองที่เป็นตัวกำหนดความหลากหลายของสายพันธุ์ไวรัสชนิดต่างๆ เช่น H1N1, H1N2 เป็นต้น


ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด B ไม่มีสายพันธุ์ย่อย พบเฉพาะในคน
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด C ไม่มีสายพันธุ์ย่อย พบในคนและสุกร

ด้านการติดเชื้อ ปัจจุบันพบว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ติดต่อกันในสัตว์จะเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A เท่านั้น ส่วนในมนุษย์ สามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ทั้งชนิด A (เฉพาะ H1, H2, H3 และ N1, N2 เท่านั้น) ชนิด B และ ชนิด C ส่วนสัตว์ปีก สามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A ได้ทั้ง H1–H16 และ N1–N9 ดังตัวอย่างในตารางข้างนี้

ตารางแสดงสัตว์ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A

ประเภทสัตว์ โปรตีนของไวรัสที่ก่อโรค
สัตว์ปีก

(ไก่ เป็ด ห่าน ไก่งวง นกกะทา นกนางนวล นกเป็ดน้ำ นกสวยงาม ฯลฯ) H1–H16, N1–N9


สุกร H1, H3, N1, N2


ม้า H3, H7, N7, N8


แมวน้ำ H4, H7, N5, N7


แมว H5N1


เสือ H5N1


ปลาวาฬ H1, H13, N2, N4, N5

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 คือโรคอะไร?


จากคำอธิบายของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดูจะเป็นข้อมูลที่ให้ภาพของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ชัดเจนพอสมควร โดยเว็บไซต์ (http://www.ddc.moph.go.th/showimg41.php? id=181) ของกรมฯ ได้ระบุไว้ว่า...



เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน ไม่พบว่ามีการติดต่อมาจากสุกร เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 (A/H1N1) ซึ่งเป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบทั้งในสุกรและในคน เป็นเชื้อที่เกิดจากการผสมสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ของสุกรเป็นส่วนใหญ่ และมีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ของคน และเชื้อไข้หวัดที่พบในนกด้วย...



ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จัดได้ว่าเป็น “โรคติดต่ออุบัติใหม่” (Emerging infectious diseases) เพราะเข้าเงื่อนไขที่ว่า เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อตัวใหม่ (อันเนื่องมาจากการกลายพันธุ์ของไวรัส จนเกิดเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีสารพันธุกรรมผสมกันของเชื้อไข้หวัดใหญ่ของหมู นก และคน)


รู้ทันไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กับปัญหาท้าทายของไวรัสแปลงโฉมพันธุกรรมแห่งอนาคต

นับตั้งแต่ข่าวการติดเชื้อและเสียชีวิตของผู้ป่วยอันเนื่องมาจากสาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ประเทศเม็กซิโกเผยแพร่ออกไปเมื่อประมาณปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัว ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ต่างต้องหามาตรการเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้เชื้อโรคดังกล่าวหลุดลอดเข้ามาในประเทศของตน
ภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ประกาศเพิ่มระดับการเตือนภัย หรือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข จากระดับ 3 ไปเป็นระดับ 5 นั่นคือ การระบาดของเชื้อโรคได้ขยายวงกว้างขึ้นจนข้ามประเทศ และต้องเฝ้าระวังมากขึ้น (จากระดับสูงสุดคือระดับ 6)
ทำไมไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จึงแพร่ระบาดได้รวดเร็ว ความรุนแรงจะเหมือนกับไข้หวัดใหญ่สเปนในอดีตเมือเกือบร้อยปีมาแล้วหรือไม่ ที่คร่าชีวิตประชากรโลกไปไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน มันเกี่ยวพันกับไข้หวัดหมูหรือไข้หวัดนกอย่างไร และในอนาคต มนุษย์จะต้องเผชิญกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ๆ อีกหรือไม่....ล้วนเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะวันนี้....เรื่องของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ๆ จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวของคนไทยอีกแล้ว เพราะเรามีโอกาสที่จะติดเชื้อเหล่านี้ได้ทุกเมื่อโดยไม่ทันตั้งตัว และไม่แน่ว่า... มันอาจจะเกิดขึ้นกับตัวคุณ และคุณเป็นผู้เริ่มต้นของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ก็เป็นได้

Thursday, July 16, 2009

การรักษา

องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนว่าการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้นยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสนี้ได้ เพราะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังไม่สามารถต้านเชื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ในขณะนี้ แต่จากผลการทดสอบในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่สามารถรักษาได้ด้วยยาทามิฟลู และยารีเลนซาเป็นยาต้านไวรัสที่สามารถต้านไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ในขณะนี้ แต่ต้องรับยาภายใน 48 ชั่วโมง เพราะมีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์ได้อีกในอนาคต

อาการและการสังเกต

อาการป่วยของผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์เม็กซิโกนั้น จะไม่แตกต่างจากผู้ที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดทั่วๆ ไป ลักษณะของผู้ป่วยจะคล้ายกับเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไอ มีน้ำมูก ต้องนำมาแยกเชื้อดูในห้องปฏิบัติการ เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีการแพร่ติดต่อเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ในคนโดยทั่วไป เชื้อที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แพร่ไปยังผู้อื่นโดยการไอหรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด หรือติดจากมือ และสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ และเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก และตา เช่น การแคะจมูก การขยี้ตา ไม่ติดต่อจากการรับประทานเนื้อสุกร (เนื้อหมู)

ภาวะเสี่ยงในการติดต่อ

ในสภาวะปัจจุบันนั้น มีโอกาสที่ไวรัสสามารถติดต่อจากคนสู่คนสูงมากและเริ่มมีการระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อัตราเสี่ยงจากการรับประทานเนื้อสุกรและอาหารที่ประกอบจากเนื้อสุกรนั้นไม่มีโอกาสเลย หากป่วยหรือมีอาการคล้ายไข้หวัด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด และพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ประชาชนทั่วไปควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผัก ผลไม้ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ งดดื่มเหล้า ล้างมือบ่อยๆ เพื่อรักษาความสะอาด

การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (อังกฤษ: 2009 new-strain influenza) หรือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอชวันเอ็นวัน (อังกฤษ: influenza A (H1N1)) ไข้หวัดใหญ่จากสุกร (อังกฤษ: swine-origin influenza) ก็เรียก ได้ระบาดตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา โดยเริ่มปรากฏครั้งแรกในนครเม็กซิโกซิตีกับส่วนอื่นๆ ของประเทศเม็กซิโก (ช่วงแรกจึงเรียกว่า ไข้หวัดเม็กซิโก) และในพื้นที่อีกหลายส่วนของสหรัฐอเมริกา อนึ่ง หน่วยงานสาธารณสุขหลายแห่งยังรายงานว่าในประเทศนิวซีแลนด์ยังพบกรณีคล้ายจะเป็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวอีกสิบกรณี แต่ยังไม่มีการรับรองรายงานดังกล่าว นอกจากนี้ ยังพบผู้ต้องสงสัยว่าจะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อีกหนึ่งพันรายทั่วโลก และเนื่องจากยังไม่อาจรับรองว่าผู้ป่วยดังกล่าวทุกคนเป็นไข้หวัดใหญ่ องค์การอนามัยโลกจึงเรียกภาวะเช่นนี้โดยรวมว่า "ภาวะเจ็บป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่" (อังกฤษ: influenza-like illnesses)
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดครั้งนี้ มีอาการเสมือนโรคไข้หวัดใหญ่รุนแรง ซึ่งผู้ป่วยบางรายในประเทศเม็กซิโก ยังเป็นโรคเสมือนปอดอักเสบอีกด้วย พบได้ในภาวะก่อนจะเสียชีวิตไม่นาน แต่จากการนำตัวอย่างเชื้อไปวิเคราะห์ในห้องตรวจสอบและแยกสายพันธุ์ เชื้อไวรัสนั้นได้พบการเปลี่ยนแปลงของสารชีวะ ดีเอ็นเอภายใน โดยปรากฏว่า สายพันธุ์ดังกล่าวมีวิวัฒนาการบางส่วนมาจาก ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ ชนิดเอ หรือ "เอชวันเอ็นวัน" (H1N1) บางส่วนมาจาก ไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีก หรือ "เอชไฟฟ์เอ็นวัน" (H5N1) หรือที่เรียก "ไข้หวัดนก" และบางส่วนมาจาก ไข้หวัดใหญ่สุกร
เนื่องจากสายพันธุ์ใหม่นี้สามารถส่งผ่านระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์ และส่งผลให้มียอดการตายของผู้ป่วยในประเทศเม็กซิโกสูงมาก องค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (อังกฤษ: U.S. Centers for Disease Control) จึงร่วมกันแสดงความกังวลว่าสถานการณ์ครั้งนี้อาจเลวร้ายลงจนกลายเป็น "ภาวะระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่" (อังกฤษ: influenza pandemic) ได้ ในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2552 องค์การอนามัยโลกจึงประกาศกำหนดอย่างเป็นทางการว่า การระบาดของไข้หวัดใหญ่สุกรสายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้เป็น "สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" นอกจากนี้ หน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐบาลทั่วโลก รวมถึงศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (อังกฤษ: European Centre for Disease Prevention and Control) องค์กรพิทักษ์สาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักร (อังกฤษ: UK Health Protection Agency) และองค์กรสาธารณสุขแห่งแคนาดา (อังกฤษ: Public Health Agency of Canada) ได้พร้อมใจกันแสดงความกังวลและเฝ้าติดตามการระบาดครั้งนี้อย่างใกล้ชิด
การตรวจวัดอุณหภูมิของนักเดินทางที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยใช้เครื่องเทอร์โมสแกน หากผู้ที่เป็นไข้เดินผ่าน ภาพจะเป็นสีแดงซึ่งอาจสงสัยว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009